You are currently viewing ท่อร้อยสายไฟ คืออะไร ? เหตุใดถึงต้องใช้

ท่อร้อยสายไฟ คืออะไร ? เหตุใดถึงต้องใช้

อุปกรณ์ในการติตดั้งในระบบไฟฟ้า มีอยู่หลากหลายอุปกรณ์ที่มีการใช้ในในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือสายไฟ เพราะเป็นเส้นทางในการเดินของกระแสไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ภายในบ้าน แต่นอกเหนือจากสายไฟแล้วยังมีอุปกรณ์อีกหลากหลาย เช่น กล่องพักสายไฟ ท่อร้อยสายไฟ และในบทความนี้เราจะมารู้จักกับ ท่อร้อยสายไฟ

ท่อร้อยสายไฟ คืออะไร ?

ท่อร้อยสายไฟ เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งในการติดตั้งกับระบบไฟฟ้า มีลักษณะเป็นท่ากลวง ที่ภายในสามารถร้อยสายไฟเข้าไปภายในตัวท่อได้ ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันสายไฟจากสภาพแวดล้อมและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เนื่องจากสายไฟเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความสำคัญเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยในร่างกายที่มีหน้าที่ในการกระจายกระแสไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้าน จึงจำเป็นในการป้องกันเพื่อลดโอกาสที่จะเสียหายและยืดอายุการใช้งานของสายไฟ

สำหรับวิธีการใช้งานท่อร้อยสายไฟ ก็สามารถใช้งานได้ง่ายๆ เพียงนำสายไฟ ร้อยเข้าไปในตัวท่อ และดึงปลายของสายไฟไปติดตั้งกับอุปกรณ์อื่นต่างๆ อาทิเช่น กล่องพักสายไฟ กล่องไฟ สะพานไฟ และอื่นๆ

เหตุผลที่ควรใช้ท่อร้อยสายไฟ

  1. ช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจจะเข้าไปทำลายสายไฟภายใน เช่น สภาพแวดล้อม น้ำ แมลง และอื่นๆ
  2. ทำการการติดตั้งระบบไฟฟ้าดูมีระเบียบ ไม่มีสายไฟห้อยระโยงระยาง
  3. ช่วยลดโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้งานไฟฟ้า เช่นการไปสัมผัสโดนกับสายไฟ ไฟดูด ไฟฟ้าลัดวงจร
  4. ช่วยยืดอายุการใช้งานของสายไฟให้นานขึ้น

ข้อจำกัดในการใช้ท่อร้อยสายไฟ

  1. เพิ่มเวลาในการติดตั้ง เพราะจะต้องเตรียมแผนงานและเส้นทางในการติดตั้ง รวมถึงต้องใช้เวลาในการร้อยสายไฟเข้าไปภายในตัวท่อ ถ้าหากเป็นท่อชนิดแข็ง ถ้ามีจุดที่เปลี่ยนทิศทางบ่อยๆ จะยิ่งทำให้ใช้เวลาในการร้อยสายไฟมากขึ้น
  2. ทำให้ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ระบบไฟฟ้าสูงขึ้น เพราะจำเป็นจะต้องจัดซื้อท่อร้อยสายไฟเพิ่มด้วย
  3. ในการซ่อมบำรุง และดูแลรักษาจะใช้เวลามากกว่า เพราะสายไฟทุกเส้นอยู่ในท่อ
  4. หากต้องการเพิ่มเติมสายไฟเข้าสู่ระบบ ก็อาจจะต้องเพิ่มจำนวนท่อ หรือร้อยเข้าไปในท่อเดิม ซึ่งจะทำได้ยากกว่า

ประเภทการติดตั้งของท่อร้อยสายไฟ

  1. การเดินลอย – จะเป็นการติดตั้งท่อร้อยสายไฟที่อยู่ด้านนอกของผนัง โดยจะโชว์ตัวท่ออยู่ภายนอก จุดเด่นของการเดินลอย คือสามารถแก้ไขการติดตั้งในภายหลังได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเลือกการติดตั้งแบบนี้อาจจะต้องคำนึงถึงการวางเฟอร์นิเจอร์ เพราะการติดตั้งแบบเดินลอยส่งผลต่อบล๊อคไฟที่จำเป็นจะต้องติดตั้งภายนอกผนัง จึงกินพื้นที่
  2. การเดินแบบฝังผนัง – จะเป็นการติดตั้งท่อร้อยสายไฟฝังเข้าไปภายในผนังของกำแพง ซึ่งการเดินท่อแบบนี้จะไม่เห็นตัวท่อร้อยสายไฟ ทำให้การติดตั้งบล๊อคไฟต่างๆ สามารถติดตั้งภายในผนังได้เลย จึงไม่กินพื้นที่ภายนอก แต่การติดตั้งท่อร้อยสายไฟแบบนี้จะสามารถทำได้ในขณะที่กำลังออกแบบโครงสร้างบ้าน เพื่อวางแผนเส้นทางของสายไฟ และจะแก้ไขภายหลังได้ยากกว่าการเดินแบบเดินลอย

ประเภทของท่อร้อยสายไฟ

ท่อร้อยสายไฟ ที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ในหลากหลายรุ่น มีจะแยกตามการใช้งาน และเราจะแยกประเภทของท่อร้อยสายไฟ ได้ดังนี้

1 . ท่อร้อยสายไฟชนิด โลหะ

ท่อชนิดนี้จะเป็นท่อที่ผลิตจากโลหะต่างๆ จึงมีความทนทานสูง ตัวอย่างของท่อร้อยสายไฟชนิดโลหะ

1.1. ท่อโลหะขนาดบาง EMT (Electrical Metallic Tubing)

เป็นท่อร้อยสายไฟที่ผลิตจากโลหะ โดยผลิตด้วยวิธีรีดเย็น รีดร้อน หรือแผ่นเหล็กกล้าที่เคลือบด้วยสังกะสี และภายในเคลือบด้วยอีนาเมล ทำให้มองเห็นมีความแวววาว ปลายของท่อทั้ง 2 ด้านจะเรียน ไม่สามารถทำเกลียวได้ มาตรฐานของท่อจะมีตัวหนังสือสีเขียวระบุชนิดและขนาดของท่อ

โดยท่อชนิดนี้ สามารถนำมาติดตั้งแบบเดินลอยได้ ทั้งภายในอาคาร บนฝ้า หรือนำไปติดตั้งแบบฝังผนังได้อีกด้วย แต่ท่อชนิดนี้มีความหนาที่ไม่มากนัก จึงไม่เหมาะในการติดตั้งไปบนพื้นคอนกรีต หรือในพื้นที่อันตราย เพราะอาจจะทำให้ตัวท่อเสียหายและทำให้สายไฟที่ติดตั้งภายในเสียหายได้

1.2 ท่อโลหะขนาดกลาง IMC (Intermediate Conduit)

เป็นท่อร้อยสายไฟที่ผลิตจากโลหะ โดยผลิตด้วยวิธีรีดเย็น ร้อน หรือแผ่นเหล็กกล้าที่เคลือบด้วยสังกะสี ภายในเคลือบด้วยอีนาเมล มีคุณสมบัติที่คล้ายกับท่อชนิด EMT แต่จะแตกต่างตรงที่มีความหนาที่มากกว่า และปลายทั้ง 2 ด้านจะมีเกลียวอยู่ มาตรฐานของตัวท่อจะมีตัวหนังสือสีส้มระบุชนิดและขนาดของท่อ

โดยท่อชนิดนี้ สามารถนำมาติดตั้งแบบเดินลอย ทั้งภายในอาคาร บนฝ้า หรือจะนำไปติดตั้งแบบฝังผนังก็สามารถติดตั้งได้ และท่อชนิด IMC ก็ยังสามารถนำไปติดตั้งบนพื้นคอนกรีตได้อีกด้วย

1.3 ท่อโลหะชนิดหนาพิเศษ RSC (Rigid Steel Conduit)

เป็นท่อร้อยสายไฟที่ผลิตจากโลหะ โดยผลิตด้วยวิธีรีดเย็น ร้อน หรือแผ่นเหล็กกล้าที่เคลือบด้วยสังกะสี ภายในเคลือบด้วยอีนาเมล มีคุณสมบัติที่คล้ายกับท่อชนิด EMT และ IMC แต่จะมีความหนาที่สูงกว่ามาก ปลายทั้ง 2 ด้านจะมีเกลียว ท่อชนิดนี้สามารถนำมาดัดโค้งงอได้หากใช้เครื่องดัดท่อ แต่ถ้าท่อที่มีขนาดใหญ่มากๆ ก็ยังจำเป็นจะต้องใช้ข้อต่อในการเชื่อมต่อแทน มาตรฐานของตัวท่อจะมีตัวหนังสือสีดำระบุชนิดและขนาดของท่อ

โดยท่อชนิดนี้ สามารถนำมาติดตั้งแบบเดินลอย ทั้งภายในอาคาร บนฝ้า หรือจะนำไปติดตั้งแบบฝังผนังก็สามารถติดตั้งได้ และท่อชนิด RSC ก็ยังสามารถนำไปติดตั้งบนพื้นคอนกรีตได้อีกด้วย

1.4 ท่อโลหะชนิดอ่อน (Flexible Conduit)

เป็นท่อร้อยสายไฟที่ผลิตจากโลหะต่างๆ เช่น เหล็ก กัลวาไนซ์ สแตนเลส หรือโลหะชนิดอื่นๆ ซึ่งคุณสมบัติสำคัญคือ สามารถดัดโค้งงอได้ นำมาใช้ป้องกันการสายไฟได้ดีจากการขีดข่วน แต่จะไม่เหมาะกับการติดตั้งในพื้นที่เปียกชื้น เพราะท่อร้อยสายไฟชนิดนี้จะกันนำได้ไม่ดี หรือไม่สามารถกันได้เลย

โดยท่อชนิดนี้ สามารถนำมาติดตั้งในแบบเดินลอย ไม่เหมาะสำหรับนำมาติดตั้งแบบฝังหนัง หรือฝังลงพื้นคอนกรีต และห้ามใช้ท่อโลหะชนิดนี้เป็นตัวนำแทนการใช้สายดิน

1.5 ท่อโลหะชนิดอ่อนกันน้ำ

ท่อโลหะกันน้ำ จะเป็นการนำท่อชนิดอ่อน (Flexible Conduit) มาปรับปรุงโดยการเคลือบด้วยพลาสติกชนิด PVC เข้าไปบนผิวของตัวท่อ ที่จะช่วยป้องกันความชื้นไม่ให้เข้าไปภายในตัวท่อได้ จึงสามารถนำมาใช้กับพื้นที่ที่มีความชื้นได้ แต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ทีมีความร้อนสูง สะเก็ดไฟ เพราะตัวพลาสติกจะละลายได้ นอกจากนี้ ท่อร้อยสายไฟชนิดนี้จะมีความยืดหยุ่นที่น้อยกว่า ท่อโลหะชนิดอ่อน สามารถดัดโค้งงอได้น้อยกว่าในขนาดที่เท่ากัน

โดยท่อชนิดนี้ สามารถนำมาติดตั้งได้ทั้งในแบบเดินลอย ฝังผนังและติดตั้งบนพื้นคอนกรีคได้ เหมาะสำหรับพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ความอ่อนตัวของท่อ

2. ท่อร้อยสายไฟ ชนิด พลาสติก

นอกจากท่อชนิดที่ผลิตจากโลหะแล้ว ท่อร้อยสายไฟที่มีจำหน่ายในปัจจุบันก็ยังมีท่อที่ผลิตจากพลาสติก ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า และมีน้ำหนักที่เบากว่า จึงเป็นที่นิยมในการนำมาใช้ติดตั้ง

2.1 ท่อพีวีซี (PVC)

เป็นท่อร้อยสายไฟที่ผลิตจากพลาสติกชนิด PVC ที่มีคุณสมบัติที่สามารถต้านเปลวไฟได้ แต่ในขณะที่โดนไฟไหม้จะปล่อยก๊าซพิษออกมาที่มีความอันตรายต่อผู้ที่สูดดม และยังไม่ทนต่อรังสียูวี จึงสามารถกรอบได้เมื่อนำไปใช้งานกลางแจ้งเป็นเวลานาน

โดยท่อชนิดนี้ สามารถนำไปติดตั้งได้ทั้งแบบเดินลอย หรือฝังผนัง แต่จะไม่เหมาะสำหรับการนำไปติดตั้งบริเวณกลางแจ้ง

2.2 ท่อ HDPE (High Density Polyethylene)

เป็นท่อร้อยสายไฟที่ผลิตจากพลาสติกชนิด Polyethylene ชนิด High Density ซึ่งมีคุณสมบัติที่ต้านทานต่อเปลวไฟ มีความแข็งแรงสูง ยืดหยุ่นดีไม่จำเป็นต้องดัดตัวท่อ ทำให้เดิสายได้ง่ายกว่าท่อเหล็ก ทนต่อแรงกดอัดได้ดี โดยท่อชนิดนี้ สามารถนไปติดตั้งบนพื้นโล่ง ใต้ดิน บนในอาคารได้ดี

2.3 ท่อ EFlex (Flexible Conduit)

เป็นท่อร้อยสายไฟชนิดอ่อนที่ผลิตจากพลาสติก โดยมีลักษณะเป็นลูกฟูก โดยจุดเด่นของตัวท่อชนิดนี้ คือความยึดหยุ่น ดัดโค้งงอได้ โดยท่อชนิดนี้หลัก ๆ จะมีอยู่ 2 วัสดุคือ ท่อร้อยสายไฟ PA (Polyamide) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่ไม่ติดไฟ หรือลามไฟ ทนต่อรังสี UV และท่อร้อยสายไฟ PE ที่จะมีราคาที่ถูกกว่า โดยท่อชนิดนี้เหมาะสำหรับเดินลอย ทั้งติดผนังและบนฝ้า หรือจะเดินภายนอกอาคาร (เฉพาะ พลาสติก PA) ซึ่งสามารถนำไปติดตั้งกับโซล่าฟาร์มได้

ที่มา :
kachathailand.com
chi.co.th