รางกระดูกงู เป็น อุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งกับเครื่องจักรต่างๆ ที่มีการขยับ และเคลื่อนสายไฟอยู่แทบตลอดเวลา ซึ่งสายไฟที่ถูกเครื่องจักรที่เคลื่อนไหวทำงานโดยไม่มีอะไรมาซัพพอร์ท อาจจะทำให้สายไฟหลุด พันกัน หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องมีการใช้งานรางกระดูกงูเพื่อลดปัญหาดังกล่าว
อยากได้รางกระดูกงู ก่อนเลือกซื้อ ต้องดูอะไร ?
เมื่อเราจำเป็นจะต้องทำการจัดซื้อรางกระดูกงูเพื่อมาติดตั้งกับเครื่องจักรซักชิ้นเราควรจะดูถึงอะไรบ้าง
1. การใช้งาน
การใช้งานจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือกซื้อ ถ้าหากมีการใช้งานเพียงสายไฟไม่กี่เส้น อาจจะใช้เป็นรุ่นที่มีขนาดเล็กก็เพียงพอต่อการใช้งาน หากมีการใช้งานหนักควรจะเลือกซื้อรุ่นที่เป็น Heavy Duty หรือเลือกเป็นรางกระดูกงูเหล็ก เพื่อให้รองรับการใช้งาน
2. ขนาดของสายไฟ และจำนวน
ข้อนี้จะส่งผลถึงขนาดของรางกระดูกงูที่เราจะเลือกใช้ หากมีสายไฟเป็นจำนวนมาก หรือมีสายไฟที่ขนาดใหญ่ ก็จะต้องมีการเลือกขนาดของรางกระดูกงูที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี
3. รางซัพพอร์ต
หากมีการใช้รางซัพพอร์ตในการใช้งานด้วย (ซึ่งรางซัพพอร์ตจะเป็นตัวที่ช่วยประคองรางกระดูกงูให้ไม่หลุดจากตำแหน่งที่ติดตั้ง) ขนาดของตัวรางก็จะต้องมีขนาดที่เล็กกว่าขนาดของตัวรางซัพพอร์ต จึงจะสามารถใช้งานได้
4. พื้นที่ในการติดตั้ง
พื้นที่ในการติดตั้งก็มีส่วนในการเลือกซื้อ เพราะจะส่งผลต่อการเลือกรุ่นและขนาดของรางกระดูกงู เช่น ความสูงของสถานที่ติดตั้ง ความกว้างของพื้นที่ เป็นต้น
5. คุณภาพของสินค้า
การเลือกซื้อรางกระดูกงู ก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องคุณภาพของสินค้า เพราะส่งผลต่อการความทนทาน การทำงานของตัวราง เสียงรบกวน และเครื่องจักร ทำให้การทำงานทำได้อย่างราบรื่น ถูกต้อง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
6. ขนาดของตัวราง
ก่อนที่เราจะเลือกซื้อรางกระดูกงูจะต้องทราบเกี่ยวกับขนาดของตัวรางที่เราต้องการใช้โดยเฉพาะการนำรางมาเปลี่ยนจากของเดิม ซึ่งจะต้องทราบถึงค่าเดิมของรางที่เคยใช้ โดยค่าต่างๆ ที่ใช้ในการดูรางกระดูกงูมีดังนี้
6.1. ค่าความสูงรวม (H)

เป็นค่าความสูงรวมของตัวราง หรือค่า H ซึ่งค่าสูงรวมนี้จะรวมความสูงทั้งหมด ตั้งแต่ด้านขอบนอกที่ติดอยู่กับพื้นจนถึงขอบนอกของตัวรางที่อยู่บนสุด ค่านี้มีความสำคัญเพราะถ้าหากจุดที่ติดตั้งมีความสูงจำกัด ตัวรางจะต้องมีขนาดความสูงที่ต่ำจุดที่ติดตั้งเพื่อให้รางสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
6.2. ค่าความสูงภายนอก (Outer Height)

ค่าความสูงภายนอก จะวัดจากด้านนอกของตัวรางจากด้านล่าง ถึงอีกด้านหนึ่ง
6.3. ค่าความสูงใน (Inner Height)

เป็นการวัดค่าความสูงภายใน โดยจะวัดจากขอบด้านในของตัวรางจากด้านล่าง ถึงด้านบน ซึ่งค่านี้จะส่งผลต่อพื้นที่ในการใส่สายไฟเข้าไป โดยปกติแล้วไม่ควรใส่สายไฟให้แน่นจนเต็ม เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
6.4. ความกว้างภายนอก (Outer Width)

เป็นการวัดค่าความกว้างภายนอก โดยจะวัดจากขอบด้านนอกของตัวรางจากด้านข้าง จนถึงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้พื้นที่ในการติดตั้ง
6.5. ความกว้างภายใน (Inner Width)

เป็นการวัดค่าควางกว้างภายใน โดยจะวัดจากขอบด้านในของตัวรางจากด้านข้างจนถึงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อปริมาณที่สายไฟใส่เข้าไปได้
6.6. รัศมีความโค้ง (Radius)

เป็นการวัดค่ารัศมีความโค้ง ซึ่งคือความโค้งของตัวรางกระดูกงู โดยค่า R นี้จะต้องสัมพันธ์กับสายไฟที่นำมาติดตั้ง ถ้าหากสายไฟที่นำมาติดตั้งรองรับค่าความโค้งที่กว้างมากกว่าตัวราง จะทำให้สายไฟอาจจะเสียหายได้ หากติดตั้งในรางกระดูกงูที่มีรัศมีโค้งที่แคบกว่า
6.7. ดูประเภทของราง (Mode)

รางกระดุกงูในท้องตลาดนอกจากรุ่น ขนาด แล้วยังมีการแบ่งตามลักษณะการเปิดของตัวรางได้อีก ดังนี้
- Bridge Closed – เป็นรางกระดูกงูที่มีลักษณะปิดทึบทั้งสองด้าน
- Semi Closed – เป็นรางกระดูกงูที่มีลักษณะปิดเพียง 1 ด้าน และอีกด้านจะเป็นแบบเปิด
- Bridge Type – เป็นรางกระดูกงูที่มีลักษณะแบบเปิดทั้ง 2 ด้าน
ที่มา : tpe-trading.com